วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

“น้ำ” แม่พระคงคาคุณค่าของความสมดุล

       คืนวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ดร.สมคิด นิ่มนวล ท่าน อยู่ที่ Northop Grumman Corporation Integrated Systems ในตำแหน่ง Sr. Software Engineer Technology Development อยู่ที่ South Oyster Bay Road USA. โทรมาหาผมแสดงความเป็นห่วงว่า เป็นอย่างไรบ้าง “น้ำในกรุงเทพฯ” พอทิ้งช่วงอีกสักครึ่งชั่วโมง รศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ ภาคการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรมาถามสารทุกข์ในช่วงฤดูน้ำล้น ทั้งสอง ท่านหนึ่งเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของผม อีกท่านเป็นอาจารย์ที่เคารพนับถือทั้งสองท่านคอยห่วงใยสั่งสอนเตือนสติอยู่ตลอดเวลา เห็นสอดคล้องกันว่า ในเวลานี้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงขนาดไหน เราทุกคนต้องเรียนรู้ “จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขและสมดุล” ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เน้นให้เห็นถึงชีวิตคนเราที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ต้องเริ่มต้นที่ “ตัวเรา” สร้างนิสัยให้เป็นคนมีและรักษาวินัยทั้งตนเองครอบครัว ชุมชนและสังคม มีความรับผิดชอบสูง มีจิตสาธารณะและจิตบริการ ไม่เอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมที่ถือเป็นแกนหลักยึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิตร่วมกันในครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม ประเทศ และสังคมโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต เพราะเราต่างมีกรรมร่วมกัน ทั้งสองท่านบอกผมคนละมุมแต่เป้าหมายเดียวกัน คือ ดร.สมคิด ฝากผมช่วยเขียนเรื่องของน้ำ เรื่องธรรมชาติ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ น้ำ คือธรรมชาติที่เขาเป็นมาชั่วนาตาปี เราไปทำกรรมร่วมกัน ทำให้เขาเปลี่ยน และจะเอาชนะ นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา วิธีการคือจะอยู่อย่างไรให้มีความสุขร่วมกัน ร.ศ ดร.กุณฑลี กล่าวหนักแน่นกับผมว่า หากมีโอกาสสอน หรือคุมคนจำนวนมาก ๆ ในการปฐมนิเทศ ขอให้ช่วยสอดแทรกเรื่องของความรับผิดชอบ วินัย จิตสาธารณะลงไปด้วย ท่านเล่าให้ฟังว่าที่หมู่บ้านแถว ๆ รังสิต น้ำท่วม ท่านเดินออกมาที่ถนน เห็นคนเอาถุงขยะมากองไว้ ท่านบอกว่าแค่คนละนิดละหน่อย นั่นคือปัญหาใหญ่ที่ยากต่อการแก้ไข เพราะนั่นคืออุปสรรค์ของการเดินทางของน้ำ ไม่ใช่แค่ขยะ แต่ท่านหมายถึงการคิดแบบเป็นองค์รวม ถึงการใช้ธรรมชาติแบบขาดการมองแบบองค์รวม ผมรับปากทั้งสองท่านว่าหากเมื่อใดก็ตามทีมีโอกาสสอน หรือทำนโยบาย จะนำสิ่งเหล่านี้ใส่เป็นนโยบายหลักแรกที่สำคัญขององค์ทุกครั้งไป…
วันที่เขียนต้นฉบับ ใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เพราะ ๗ เขตอุตสาหกรรม(นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ๔๓ โรงงาน, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ๙๐ โรงงาน, นิคมอุสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) ๑๔๓ โรงงาน,เขตประกอบอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ ๙๙ โรงงาน สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(มหาชน) ๒๗๗ โรงงาน, เขตสวนอุตสาหกรรมนวนคร ๒๗๗ โรงงาน เขตอุตสาหกรรมอินดัชเตรียบปาร์ค ๔๔ โรงงาน รวมแล้วขณะนี้อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ๕๗๓ โรงงาน ที่ปทุมธานี ๓๒๑ โรงงาน รวมแล้วขณะนี้ท่วมเสียหายนับถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ รวม ๘๙๔ โรงงาน(ที่มา กระทรวงอุตสาหกรรม,ฐานเศรษฐกิจ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔)ในขณะที่ มีผู้ เสียชีวิต 373 ราย สูญหาย 2 คน กระทบ 62 จังหวัด 628 อําเภอ ประชาชนได้รับความเดือด ร้อน 2,931,950 ครัวเรือน 9,522,176 คน (ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย: ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔)
หลังจากนี้ยังไม่รู้ว่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร?  เหล่านี้เป็นปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ชีวิตผมจำความได้ เพื่อนที่อยู่ที่เขตอุตสาหกรรมโรจนะ น้ำท่วม สองเมตรเศษ(จากพื้นโรงงาน) โรงอบมะม่วงที่เพิ่งสร้างเสร็จใช้งานได้ยังไม่ทันคืนทุนมีอันต้องจมอยู่กับน้ำ ขอแสดงความเสียใจจากใจจริง บริเวณอุตสาหกรรมที่กล่าวนามมา และเรื่อยมาเขตรังสิต คลองหลวง ประทุมธานี ตลาดไท ที่มีเพื่อนหลายบริษัทผู้ส่งออกต้องหยุดกิจการเพราะน้ำท่วมสูง ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ยังเรื่อยเข้ามาเขต นนทบุรี น้ำท่วมสูง วันก่อนไปบ้านญาติที่ถนนบางกรวย-จงกลถนอม(ติดคลองมหาสวัสดิ์) สงสารแต่คนแก่ คนป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลทุกสัปดาห์(ล้างไต)ที่ทุกข์ยากแสนสาหัส คนที่ไม่มีที่อยู่ ต้องอาศัย วัด มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเต็ม ภาครัฐแนะนำให้ไปต่างจังหวัด เช่น ราชบุรี ประจวบ ชลบุรี อันนี้ก็ดี รัฐประกาศวันหยุดราชการ ๒๗-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๔) ที่จอดรถต้องอาศัยห้าง หน่วยงานราชการ เชิงสะพาน สะพานกลับรถ ถนนลอยฟ้า ทางด่วน เป็นที่จอดรถ หรือจอดรถที่ถนนใหญ่อย่างถนนกาญจนา นอนไม่หลับ เพราะไม่รู้ว่าจะโดนมือดีมางัดรถเมื่อไร  สุดเข้ามาที่บริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี พุทธมณฑลสาย ๔ คงเข้าที่โรงงานในวันสองวันข้างหน้า ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ  พระแม่คงคา พระสยามเทวาธิราช ช่วยคุ้มครองคนไทยที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ด้วยเถิด... หากใครคิดร้ายประสงค์ไม่ดีต่อทรัพย์สินคนอื่น ก็ขอให้มีอันเป็นขออย่าซ้ำเติมผู้กำลังตกอยู่ที่นั่งลำบากเลยครับ...
กิจวัตรที่เรายังคงดำเนินอยู่ บนรอยเปื้อนยิ้ม
บ้านลุงขอความกรุณาวานให้ผมเข้าไปดู สับไฟฟ้าที่บ้าน เพราะรับมือไม่ไหว(ท่วมในบ้านสูง ๑.๓๐ เมตร/วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔) ลุงอายุ ๘๙ ป้า อายุ ๘๓ ต้องล้างไตทุกอาทิตย์ หนีไปอยู่กับลูกที่ชลบุรี ต้องกลับมาทำเรื่องโอนตัวไปล้างไจที่ชลบุรี พอเมื่อคืน ๒๗ ตุลาคม คนในหมู่บ้านโทรมาบอกว่าน้ำเข้าที่บ้านแล้ว บางบ้านที่เป็นบ้านชั้นเดียวอพยพออกหมดแล้ว เหลืออยู่ สองหลังที่เป็นทาวเฮาส์ ๒ ชั้น อยู่บนชั้นสอง ทางเข้าหมู่ด้านหน้าจากถนนกาจนาภิเษก เทศบาลทำสะพานสูงทางเดินสูงเมตรเศษ ขณะนี้จมน้ำแต่อาศัยเดินเข้าออกได้บ้าง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านถนนจงกลถนอมริมคลองมหาสวัสดิ์ ต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ไม่ได้สังกัดกรุงเทพมหานคร ท่วมอ่อมอรทัย ทั้งที่หมู่บ้านเทพประทานวิลเลจแห่งนี้ ผู้นำเข้มแข็งเสียสละ อดทนป้องกันน้ำในลักษณะเดียวกันนี้มาหลายปี มาปีนี้ ทั้งหินคลุก กระสอบทราย ชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยเหลือกันทั้งวันทั้งคืน ที่สุดความหวังก็หมดสิ้นเมื่อด้านหน้าด้านหลังป้องกันอย่างดี กำแพงบ้านของสมาชิกในหมู่บ้านที่มีอายุมากกว่ายี่สิบปี ทานแรงกดของน้ำที่กระจายแทรกซึมตามธรรมชาติไม่ไหวทะลายลง หมู่บ้านเทพประทาน สองร้อยกว่าหลังคาเรือนก็จมน้ำเป็นหมู่บ้านสุดท้ายแห่งสายน้ำบนถนนจงกลถนอม ทุกคนอพยพออก ยกเว้นสามบ้านหน้าหมู่บ้าน ไม่ยอมออก อยู่ชั้นสอง ผมโทรไปถามว่าทำไมไม่ยอมออก คำตอบที่ได้รับเป็นคำตอบที่อยากจะบอก ดร.สมคิด และ รศ.ดร.กุณฑลี ให้ได้รับรู้และภาคภูมิใจ ว่าสิ่งที่อยากให้เกิดในสังคมไทย
“ต้องอยู่ดูแลข้าวของในหมู่บ้าน เพราะหากไปหมดแล้วขโมยงัดบ้านใครจะดูแล”ผมฟัง ทันทีที่ได้ยินเสียงตามสาย ความรู้สึกตื้นตันใจก็ขึ้นมาถึงอก ถึงกับสะอึก เพราะนี่คือความรับผิดขอบ วินัย สำนึก จิตสาธารณะที่ผมได้ยิน และตลอดเวลามากกว่าครึ่งเดือนที่คนเหล่านี้ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เป็นกำลังสำคัญในการเชิญชวนให้คนในหมู่บ้านออกมาช่วย
“สมาชิกหมู่บ้านเทพประทานคะ หากใครไม่ติดภารกิจใด ๆ ขอเรียนเชิญมาที่หน้าหมู่บ้าน ขอแรงทั้งผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครที่ไม่ติดภารกิจ ตอนนี้หินคลุกมาลงแล้ว เราต้องการแรงช่วย เพื่อป้องกันหมู่บ้านของเรานะคะ ”  ประกาศสองสามครั้งแล้วเงียบเพื่อพละจากไมค์วิ่งไปช่วยผมยิ่งฟังยิ่งเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง และขอยกย่องให้เป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
จนถึงวันนี้ ยังคงรักษาการดูแล ช่วยเหลือ รับโทรศัพท์ เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้คนที่อพยพบออกไปคลายความกังวล ทั้งที่ตัวเองกังวลยิ่งกว่า
กิจวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ที่ยังคงดำเนินอยู่
กว่าหนังสือจะออกก็คงผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้น สภาพต่าง ๆ คงจะดีขึ้น เมื่อวันวาน(๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นวันปิยะมหาราช)หลังจากไหว้ขอพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช พระสยามเทวาธิราช พลังความเชื่อที่ว่ามีสิ่งที่เป็นอำนาจของธรรมชาติที่คุ้มครองสรรพสิ่งในโลกท่านจะช่วยดูแลบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข หากเป็นพลังความเชื่อและศรัทธาที่สูงสุด(เชื่อว่าผลเกิดแต่เหตุ)  แน่วแน่ มุ่งมั่น อัศจรรย์ย่อมเกิดขึ้นได้!
บัดนี้เกิดขึ้นแล้วอย่างที่คิดปรารถนา ในส่วนของศูนย์อพยพต่าง ๆ คนที่มีจิตอาสา เสียสละมีมากมายทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ นักศึกษา มากมายจนผมอดภาคภูมิใจที่เกิดในประเทศไทย ที่มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวให้กับประชาชนคนไทย วันนี้ยามเดือดร้อน ยามทุกข์ คนไทยไม่แพ้ใครในโลกนี้ มากกว่าที่ในชีวิตนี้เคยเห็นมา พลังเหล่านี้ คือพลังความเชื่อ ความศรัทรา ที่เกิดขึ้น แล้วอัศจรรย์ก็เกิดขึ้นจริง ๆ...
                อุทกภัยที่เกิดขึ้นที่จริงไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นหลายจังหวัดเจอะเจอจนคุ้นชิน ไม่ว่าจะนครสวรรค์ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นนทบุรี ประทุมธานี แต่ไม่มากเหมือนปีนี้ เกินคาดการณ์  เมื่อก่อน(ราชบุรี)ในฤดูน้ำหลาก ผมจำได้ว่าเป็นบ้านชั้นเดียวสมัยเก่า ไต้ถุนสูง(ประมาณ ๒ เมตร) เมื่อสามสี่สิบปีที่แล้วทุกปีน้ำจะท่วมแค่อก บางปีเดินไม่ได้ มิดหัว หรือนั่งบนบ้านหย่อนเท้าลงมาก็แช่น้ำพอดี มาช่วงหลังน้ำท่วมแค่พื้นแฉะ ๆ สองสามวันก็หายไป คลองที่เคยใช้สัญจรก็เริ่มหมดความสำคัญ เป็นที่เลี้ยงกุ้งหอยปูปลาตามธรรมชาติเริ่มหมดความสำคัญดินตื้นเขินไม่ โกย ขุด ลอก เหมือนเมื่อก่อน ตะกอน และดินเลนไม่ได้นำขึ้นมาใช้ ธาตุอาหารในดินก็น้อยลง ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ปูปลาตายหมด นิเวศเปลี่ยนไป ต้นไม้เริ่มอ่อนแอ ดินเริ่มแข็ง เริ่มเสื่อม ต้นไม้ก็ปรับตัว จากแข็งแรงภูมิต้านทานสูง กลับเปลี่ยนไป ต้องใช้ปุ๋ยยามากขึ้น ต้นไม้เริ่มปรับสภาพให้อยู่รอด(ไม่รอดก็ตายไป) เริ่มอ่อนแอศัตรูพืชเริ่มบุกหนัก แล้วสิ่งที่กังวลก็เกิดขึ้นอย่างที่เห็นที่เป็น เป็นอุปสรรค์ สำคัญทั้งการผลิต ขาย และส่งออก
                น้ำใกล้มา(สัญญาณเตือน คือฤดูฝนเริ่มเบาบางลง น้ำเริ่มหลากสีขุ่นแดง) แม่เตรียม “ชัน” “น้ำมันยาง” และ “ด้ายดิบ”มาทำเป็นหมัน(ด้ายดิบควั่นเป็นเกลียวเล็ก ๆพอเหมาะกับแนวที่จะอุด) ตอกตามแนวและยาด้วย “ชันผสมน้ำมันยาง” ที่ผสมปูนกินกับหมาก ข้นเหนียวได้ที่ ใช้นิ้วชี้ป้ายและยาตามแนวกดรีดให้เรียบด้วยนิ้วหัวแม่มือ(ทั้งข้างนอกและข้างใน)เท่านี้ก็จะได้แนวยาเรือที่สวยงามเรียบแน่นสนิท เสร็จแล้วจึงชโลมด้วยน้ำมันยางทั้งลำ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ก็ได้พาหนะที่จะพาไปไหนต่อไหน แม่ไม่วายที่จะชโลมน้ำมันยางกับพายด้วย ทำให้ทั้งเรือและพายใหม่สวยเอาไว้อวดกันในวันพระที่ทั้งแม่ และยายพาผมและพี่น้องไปใส่บาตรที่วัด   บางปี ยาแนวน้ำมันแห้งไม่ทัน(น้ำหลากมาเร็ว ฝนตกมาก น้ำล้นเขื่อน ปล่อยออกมาเร็วกว่าปกติ) วันเดียวท่วมจนเดินกลับบ้านที่อยู่ไกลสองกิโลเศษไม่ได้ แม่ต้องเอาเรือลงและไปรอรับพี่น้องทั้งหมดกลับบ้าน พายลัดเลือกสวนที่เคยเป็นคันดินเดิน พอขึ้นจากเรือ พวกเราต่างร้องกันขรม เพราะน้ำมันยางติดกางเกง ที่แม่เป็นคนตัดให้(มีเพียงคนละตัว เพราะแม่ซื้อผ้าหน้ากว้าง เป็นเมตรตัดครั้งละ ๓ ตัว โดยกรอปปี้แบบของเก่า ดังนั้นตะเข็บและช่วงลอยต่อจึงไม่เรียบร้อยแต่เราใช้ใส่ไปโรงเรียน บางวันโดนทำโทษหน้าเสาธงเพราะขาสั้นเหนือหัวเขาเกิน ๑ นิ้วสมัยนั้นระเบียบเข้มงวด ตัดผมหน้ายาวเกิน ๓ เซนติเมตรโดนทำโทษเช่นกันเพราะหล่อเกินคนอื่น สมัยนั้นนักเรียนนอกรีดนอกรอยจึงไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก เพราะมีไม้เรียวกำกับ) ทำให้มีริ้วรอยไม่สวยงาม ล้างก็ล้างไม่ออก เป็นสัญญาลักษณ์ให้รู้ว่าปีนี้น้ำมาเร็ว ติดกางเกงบริเวณก้น และข้าง ๆ เพราะนั่งชิดแคมเรือ ในขณะที่พ่อเอาตาข่าย(ตาใหญ่และตาถี่) ออกมาซ่อมช่วงที่ชำรุด ดูพ่อเป็นช่างฝีมือที่หาตัวจับยาก มีความละเอียด เอาใจใส่ เพราะตาข่ายปี ๆ หนึ่งจะมีน้ำมาเพียงครั้งเดียวประมาณสองเดือน ได้ใช้ก็ช่วงน้ำหลาก ปลาตะเพียน ปลากระสูบตัวใหญ่ที่หลุดออกจากเขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี จะเข้ามามาก สมัยนั้น พอตกช่วงค่ำ พ่อและเราพี่น้องจะเอาตาข่ายที่พ่อซ่อมแล้วใส่เรือหาทำเลทางสามแพ่ง(คลองตัดกันเป็นรูปตัว T สามคนพี่น้องยืนอยู่คนละมุมฝั่งคลองที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็นตลิ่ง หย่อนตาข่ายลงยังไม่ถึงห้านาที รู้สึกว่าตาข่ายกระตุกถี่ ๆ จนทนไม่ไหว ยกขึ้นมีปลาหลากหลายพันธุ์ ไม่ว่าปลากะแหหรือบางคนเรียกปลาตะเพียนแดง ปลาตะเพียนขาว ปลายกราย ปลาแขยง ปลาช่อน ติดกันระโยงเต็มไปหมด(แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นน้ำที่เต็มไปด้วยปลา) เรายกใส่เรือและแกะออกจากตาข่ายอย่างมีความสุขสนุกสนาน ทำอย่างนี้สองสามครั้งเมื่อเห็นว่าเพียงพอจึงกลับบ้าน ส่วนพ่อนั้นใช้เรือบดเอาตาข่าย(ตาใหญ่) จนผมตกใจว่าพ่อจะเอาไปดังปลาอะไร ใหญ่ขนาดนี้จะติดได้อย่างไร พ่อออกไปเพียง สองชั่วโมง พ่อก็เรียกให้ช่วย เพราะปลากระสูบตัวใหญ่ขนาดเด็ก 2 ขวบ คำนวณน้ำหนักดูน่าจะเกินสิบกิโลกรัม
                น้ำที่เคยเป็นความสุขที่รอคอยถูกมองว่าเป็นภัยที่คลุกคราม และต้องต่อสู้ ในขณะที่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งคราใดที่เกิดสงครามขึ้นระหว่างไทยกับพม่า ยามที่บ้านเมืองอ่อนแอ ก็ได้น้ำนี่แหละเป็นพระเอกช่วยให้พม่ายกทัพกลับ(ไทยชนะ) เพราะถ้าอยู่คงถูกน้ำท่วม ขาดข้าวปลาอาหาร และทำศึกไม่ได้ นี่คงเป็นสาเหตุที่เลือกกรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้แม่น้ำเป็นเมืองหลวงสมัยนั้น และยึดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างเมืองหลวงมาถึงทุกวันนี้
                ผู้คนจำนวนมากมองว่าน้ำคือศัตรู คือปัญหา ทั้ง ๆ ที่น้ำที่เกิดขึ้น เกิดจากฝนที่ตกต้องในฤดูกาล ตามธรรมชาติ เมื่อมีมาก ต้องการบริหารจัดการ จึงสร้างเขื่อน แต่เมื่อน้ำมีมากเราก็ปล่อยจากเขื่อน ในขณะที่เมื่อสมัยก่อนน้ำที่ไหล่บ่าจากทางตอนเหนือจะไหลบ่าท่วมทุกจังหวัดในภาคกลาง ขังอยู่สักสองเดือนแล้วก็ลงทะเล มาวันนี้เราพยายามทำทุกอย่างที่คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติ ที่สุดธรรมชาติก็เป็นเหมือนเช่นเคยเป็น เมื่อมีสิ่งกีดขวางธรรมชาติปรับความสมดุล(ตามปัจจัยของเหตุ) วันนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงย้ายมากรุงธนบุรี และกรุงเทพ
มาถึงปัจจุบันนี้เรายังคงมองมองว่าอยุธยาเป็นแหล่งทำเลทอง จึงสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นจำนวนมาก หากเปรียบไปแล้วก็เหมือนสร้างเขื่อนกั้นไว้บนพื้นดิน เป็นเขื่อนที่กั้นเป็นฟันปลา เมื่อน้ำไหลล้นเขื่อนเหมือนทุกปีท่วมไร่นาของประชาชน ประชาชนก็ได้อาศัยน้ำท่วมขังเกิดตะกอน ชาวนาหยุดพักไม่ต้องทำนา กลับหาปลาแทน พอน้ำลด ตะกอนเป็นปุ๋ยที่บำรุงดินในเลือกสวนไร่นา ปลูกข้าวรอบใหม่ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะข้าวได้ธาตุอาหารครบทั้งอาหารหลัก อาหารลอง ทำให้ภูมิต้านทานดี แมลงไม่เข้าทำลาย
วันนี้เปลี่ยนสภาพเกษตรเศรษฐกิจ มาเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ เราก็บอกว่าทฤษฎีโรจิสติคที่ดีแหล่งผลิตต้องอยู่ใกล้เมืองหลวงและการคมนาคมสะดวกเพื่อนเคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็วประหยัดแต่ขาดการคิดแบบองค์รวม  จึงเร่งสร้างขยาย ถนน สาธารณูประโภคขึ้นรองรับการเกิดนิคมอุตสาหกรรมมากมาย เมื่อน้ำมาก ไหลไม่ทันจึงเอ่อล้น กลายเป็นความเสียหาย อย่าโทษใครเลย เพราะต่างคนต่างเดินบนถนนของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน(ทำกรรม) หลังเหตุการณ์เกิดจะเห็นผู้คนจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติการ ใคร ต่อใครบอกติเตียน “ไม่เตรียมแผน ไม่มีแผนสำรอง ไม่เตรียมตั้งแต่แรก” อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลยครับ อเมริกาเอง เกิดพายุ ป้องกันกันอย่างดี พอฝนตกหนักที่กั้นกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทำความเสียหายมากมาย ญี่ปุ่นเองก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าเกิด สึนามิ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่ระบบป้องกันเตือนภัยญี่ปุ่นนำสมัยที่สุดในโลก ยังรับไม่อยู่ ดังนั้นตอนนี้อย่าโทษใครเลยครับ เราทำกรรมร่วมกัน เราต้องรับกรรมร่วมกัน(กรรม คือการกระทำทั้งในรูปแบบส่วนตัว และการมีส่วนร่วม ทั้งทางตรงและทางอ้อม) หันกลับมาเสียสละ ช่วยเหลือกัน เมตตา ให้อภัย สร้างวินัยให้กับตัวเอง มีจิตสาธารณะและบริการ อันไหนที่เห็นว่าเป็นอุปสรรค์ถ้าเรายื่นมือออกไปช่วยกันคนละนิดละหน่อย ปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่หลวงจะเล็กลง หรือหมดไป ปัญหาต่าง ๆ หากมองในมุมบวก มองเป็นประวัติศาสตร์ที่เตือนใจ สร้าง คิด ค้น พัฒนาหาแนวทางใหม่ออกมาทดแทนของเก่า มองอย่างเป็นองค์รวม  อย่าหักหารน้ำใจคนทำงานด้วย คำพูด ว่า ติติง ไม่รู้จริง ไม่เคยประสบภัย หากจะพูดก็พูดในเชิงสร้างสรรค์ หรือเสนอแนะแนวทางที่ดีกว่า(มีเหตุมีผลบนข้อมูลจริง) อย่าพูดถากถางเอามัน สะใจ ทำให้คนอื่นท้อแท้ ขอเถอะครับ หันกลับมาดูตัวเอง ช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว และช่วยเพื่อนบ้าน เพื่อนมนุษย์ ช่วยสังคม แล้วทุกอย่างจะงอกงาม ไม่มีประเทศไหนที่เจริญก้าวหน้าโดยไม่มีอุปสรรค์ อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี เวียดนาม ไทย ล้วนแล้วแต่พบอุปสรรค์มากมาย จนกลายเป็นประเทศที่เจริญ เพราะอุปสรรค์ทำให้เกิดการคิด พัฒนา ค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาทดแทน วันนี้โรงงานอุตสาหกรรมเสียหาย ได้ทีเปลี่ยนเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า ขอรัฐอุดหนุนภาษีนำเข้าเครื่องจักร ทำให้ผลผลิตมากขึ้น ต้นทุนลดลง คุณภาพดีขึ้น ขายได้มากขึ้น ปีเดียวคุ้มค่ากับการลงทุน
ถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี (๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔)
          พระแม่คงคา มีประวัติที่เล่าต่อกันมาว่า พระองค์เป็นพระธิดาของท้าวหิมวัตและพระนางเมนกามีน้องสาวนามว่าพระอุมาภควตี พระองค์ทรงเป็นพระชายาของพระศิวะ ตามคติความเชื่อของอินเดีย ว่ากันว่าพระองค์ทรงปลาใหญ่หรือจระเข้เป็นพาหนะ พระองค์เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดสายน้ำคงคาตามความเชื่อของชาวอินเดีย และนอกจากนั้นชาวฮินดูยังเชื่อว่าสายน้ำ คงคานั้นสามารถชำระล้างบาปของตนได้ ล้างบาปแบบไทย ๆ คือสร้างหัวใจให้มีคุณธรรม ประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมีวินัย ตามกรอบคุณธรรม สร้างให้เป็นจริยธรรมของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม เท่านี้ก็ชำระล้างบาปให้พระแม่คงคงได้แล้ว
วิกฤติที่เกิดขึ้น สร้างโอกาสให้คนไทย รัก สามัคคี ปองดอง ช่วยเหลือ เมตตา มีจิตสาธารณะและบริการ เสียสละ อดทน  ยามที่กระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการการพัฒนาด้านวัตถุ  ในขณะที่หลายคนเรียกร้องให้พัฒนาจิตใจมนุษย์ที่เริ่มเสื่อมถอย เจริญงอกงามไปพร้อมกับวัตถุ มาวันนี้...เห็นได้ชัดว่ามนุษย์ คือ ส่วนหนึ่งของ “ธรรมชาติ”ที่กำลังปรับความสมดุลให้ลงตัว จากคนที่ถอยเสื่อมโทรม...กลับเสียสละ ช่วยเหลือ เห็นใจ เมตตาซึ่งกันและกัน  เปี่ยมล้นด้วยจิตสาธารณะบริการ สรรสร้างเป็นคุณธรรมเป็นกรอบก่อเกิดจริยธรรมของคนให้งอกงามอย่างพอเหมาะพอดี  อันเนื่องมาจาก “แม่พระคงคาคุณค่าของความสมดุล”